จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกกับงานจิตรกรรมไทย

 

งานศิลปะที่นิยมสร้างกันในโลกนี้   เริ่มต้นด้วยการนำสิ่งต่างๆรอบตัวที่สามารถหาได้ นำมาใช้  เพื่อการสื่อสาร การแสดงออกทางศิลปะ โดยมีวิวัฒนาการมาจากวัสดุที่ได้จากสภาพแวดล้อมรอบตัว ในสังคมแต่ละยุคสมัย มีวัสดุพื้นฐาน  เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย รากไม้ ยางไม้ เป็นวัสดุในการสร้างงานศิลปะ มนุษย์โบราณ นำเลือดสัตว์ ยางไม้ เขียนบันทึก กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น รวมทั้งการบูชาสิ่งเคารพของสังคมนั้น

จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก เป็นการเขียนภาพที่มีลักษณะ  การเตรียมพื้น  การลงสี  เป็นไป ตามธรรมชาติมากเทคนิคหนึ่ง  วัสดุที่ใช้เกิดขึ้นตามกระบวนการธรรมชาติ เป็นการใช้วัสดุ ในกระบวนการทำงานนี้ อย่างเข้าใจธรรมชาติ ของวัสดุในการทำงาน  จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดคือ เมื่อ 1500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พบที่เกาะครีต (Crete) ที่ประเทศกรีซ ชิ้นที่สำคัญที่สุดเรียกว่า “The Toreador” ซึ่งเป็นเรื่องราวของพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่คนกระโดดข้ามหลังวัว ในสมัยโรมันที่เมืองปอมเปอี เมืองนี้จมอยู่ในเถ้าถ่านภูเขาไฟมาเป็นเวลา 2000 ปีมาแล้ว แต่ยังคงสภาพความคงทนอยู่ได้

 

จิตรกรรมฝาผนังในชาเปลซิสตินที่ วาติกัน, โรม ประเทศอิตาลี

จิตรกรรมฝาผนังในชาเปลซิสตินที่ วาติกัน, โรม ประเทศอิตาลี

จิตรกรรมฝาผนังโดยดิโอนิเซียส (Dionisius) เล่าเรื่องนักบุญนิโคลัส

จิตรกรรมฝาผนังโดยดิโอนิเซียส (Dionisius) เล่าเรื่องนักบุญนิโคลัส

จิตรกรรมฝาผนัง จากมหากาพย์ Divine Comedy ของดันเต อะลิกิเอรีโดยโดเมนิโค ดิ มิเคลลิโน (Domenico di Michelino) ที่มหาวิหารฟลอเรนซ์

จิตรกรรมฝาผนัง จากมหากาพย์ Divine Comedy ของดันเต อะลิกิเอรีโดยโดเมนิโค ดิ มิเคลลิโน (Domenico di Michelino) ที่มหาวิหารฟลอเรนซ์

จิตรกรรมฝาผนังจากบาวาเรียประเทศเยอรมนี

จิตรกรรมฝาผนังจากบาวาเรียประเทศเยอรมนี

“ที่ฝังศพของนักดำน้ำ” พบเมื่อปีค. ศ. 1968 (470 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

“ที่ฝังศพของนักดำน้ำ” พบเมื่อปีค. ศ. 1968 (470 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

จิตรกรรมฝาผนังจากอจันตา (Ajanta) คริสต์ศตวรรษที่ 6

จิตรกรรมฝาผนังจากอจันตา (Ajanta) คริสต์ศตวรรษที่ 6

 

จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก (Fresco) คืออะไร  จิตรกรรมฝาผนัง (ภาษาอังกฤษ: Fresco) คือภาพเขียนหลายชนิดที่เขียนบนปูนบนผนังหรือเพดาน คำว่า “fresco” มาจากภาษาอิตาลี “affresco” ซึ่งมาจากคำว่า “fresco” หรือ “สด” รากศัพท์มาจากภาษาเยอรมนี

คุณลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก  มีลักษณะพิเศษทีความคงติดแน่น สามารถคงความสดใสของสีอยู่ได้นับเป็น พันๆปี สีจะฝังลงใต้พื้นปูน เป็นเนื้อเดียวกับปูน แต่ก็เป็นเทคนิคที่ทำได้ยาก เพราะต้องทำงานในขณะที่ปูนยังเปียกอยู่ เวลาที่ใช้ในการทำงานอาจจะอยู่ที่ระหว่าง 6-8 ชั่วโมงงทนิดีความนังปูนเปียก

จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก ในประเทศไทยชิ้นแรกเท่าทีทราบ น่าจะเกิดขึ้นสมัยอยุธยาตอนต้น ภาพเขียนบนผนังกรุใต้ปรางค์วัดราชบุรณะ สร้างในสมัยอยุธยา เป็นเทคนิค Fresco สีสันยังคงสดใสอยู่ครบถ้วน แต่เป็นงานเขียนที่หยาบใช้เวลาสั้นๆในการเขียน ปัจจุบันมีงานจิตรกรรมที่เขียนด้วยเทคนิค Fresco ที่พอจะหาดูได้ที่ ภายในโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เขียนโดยจิตกรอิตาเลี่ยน หรือที่วัดราชาธิราช บนผนังพระอุโบสถ เป็นเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง4 ผนัง โดยจิตรกรอิตาเลี่ยนชื่อ ซี.ริโกลี  ถึงแม้ว่าเทคนิค Fresco จะเคยมีการใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว แต่ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายในงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย เนื่องจากงานจิตรกรรมฝาผนังของไทยมีความละเอียดอ่อนเน้นการตัดเส้นและปิดทอง จึงต้องใช้เวลามากในการเขียนแต่ละส่วน โดยเฉพาะการปิดทองตัดเส้นซึ่งไม่สามารถทำได้ในขณะที่ยังมีความชื้นอยู่ งานจิตรกรรมฝาผนังของไทยจึงนิยมใช้เทคนิคปูนแห้ง ซึ่งไม่มีเวลาจำกัดในการทำงานและเหมาะสมกับรูปแบบของงานจิตรกรรมไทย

 

 

เทคนิคปูนเปียก (Fresco) กับงานจิตรกรรมไทย  งานจิตรกรรมฝาผนังของไทยใช้เทคนิคปูนแห้งหรือ Secco  และเป็นที่แพร่หลายนิยมใช้ในหมู่ช่างจิตรกรรมไทยแต่ในอดีต  ช่างไทยพิถีพิถันกับการเตรียมพื้นผนังตามกรรมวิธีโบราณ  สีจึงติดแน่นคงทน แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในแถบร้อนชื้น จึงทำให้ความชื้นจากพื้นดินขึ้นมาทำลายความสามารถในการยึดเกาะของวัสดุ  แร่ธาตุต่างๆในผนังก็เกิดปฏิกิริยาแปรสภาพได้ง่าย เนื่องจาก

การเตรียมผนังและการเขียนแบบวิธีโบราณ ด้วยสีฝุ่นผสมกาว การบดสีฝุ่นให้ละเอียดเนียน จนแทรกเข้าไปในเนื้อผนัง ไม่เขียนหยาบหนา ทับกันจนทำให้แตกร่อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว

แต่ช่างสมัยปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีโบราณในการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง หลายคนใช้สีอคลายลิก ที่มีความสามารถในการยึดเกาะได้ดี แต่ในระยะเวลายาวนานออกไปจะสามารถทนกับความชื้นใต้ผนังหรือไม่ ยังคงต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป ในปัจจุบันช่างที่มีประสบการณ์ และมีโอกาสที่จะร่วมออกแบบโบสถ์ หรืออาคารที่จะเขียนงานจิตรกรรมก็จะหาวิธียกพื้นตัดความชื้นต่างๆเพื่อตัดปัญหาความชื้นในผนังที่ขึ้นมาจากพื้นดิน

วิธีการเตรียมพื้นจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก(Fresco)  เทคนิคปูนเปียกจะต้องมีการเตรียมปูนเพื่อใช้ในการฉาบ ใช้ทรายที่ร่อนไว้แล้วนำมาล้างหลายครั้งให้สะอาด ก่อนนำมาผสมปูน ใช้ปูนผสมทรายในสัดส่วน 1:1 ผสมน้ำ หมักทิ้งไว้ ใช้ปูนที่ผสมไว้ฉาบชั้นแรกเพื่อปรับระดับความขรุขระและอุดรูต่างๆบนผนัง ทิ้งไว้ให้แห้ง ทำการฉาบชั้นกลาง ในชั้นนี้ควรฉาบกดให้แน่น ทิ้งไว้ให้หมาด ในชั้นนี้จะต้องร่างแบบบนกระดาษ(Cartoone)แล้วปรุกระดาษตามรอยร่างภาพ ตบด้วยฝุ่น เพื่อการกำหนดพื้นที่งานที่จะสามารถทำเสร็จได้ในเวลา 6-8 ชั่วโมง ในชั้นสุดท้ายจะเป็นการฉาบเฉพาะที่จะทำการเขียน โดยการร่างแบบบนกระดาษ(Cartoone) แล้วปรุกระดาษตามรอยร่างภาพ ตบด้วยฝุ่นอีกครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะเริ่มเขียนได้ และต้องเขียนให้เส็รจ ก่อนปูนแห้งในเวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง

วิธีการเตรียมพื้นงานจิตรกรรมฝาผนังปูนแห้งแบบไทย(Secco)  เทคนิคปูนแห้งของไทย การผสมปูนฉาบแบบโบราณ มีส่วนผสมอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด 1.กาวทำด้วยหนังควายหรือวัว เอามาเผาไฟแล้วต้มจนเหนียว 2. น้ำแช่เถาหัวด้วน เอามาแช่น้ำจะเป็นยางเหนียว หรือว่านหางจระเข้ 3. ต้นบง ถากเอาเปลือกแช่น้า 4. เปลือกประดู่แช่น้ำ 5. ปูนขาว 6. ทราย 7. น้ำอ้อย น้ำอ้อยต้องเคี่ยวให้เหนียวเป็นน้ำเชื่อมก่อน เอาส่วนผสมทั้งหมดรวมกันซักครึ่งตุ่มแล้วใส่น้ำให้เต็มตุ่มแช่เอาไว้ หมักไว้ยิ่งนานยิ่งดี แล้วจึงนำมาฉาบ ก่อนจะเขียนก็ต้องล้างผนังให้จืดเสียก่อน โดยใช้น้ำต้มใบขี้เหล็กมาประสะล้างผนังหลายๆครั้ง จนกว่าผนังจะหมดความเค็ม มีวิธีพิสูจน์ความเค็มของผนังโดยเอาหัวขมิ้นขีดลงบนผนังถ้ามีปฏิกิริยาเป็นสีแดงแสดงว่าผนังยังเค็มอยู่ ขั้นต่อไปให้นำเลือดหมูมาทาบนผนังเพื่ออุดรูพรุนแล้วขัดให้เรียบ แล้วจึงจะเขียนได้

ทางออกของจิตรกรรมฝาผนังไทยด้วยเทคนิคปูนเปียกกับปูนแห้ง  เทคนิคปูนเปียกมีจุดเด่นที่ความคงทนและการยึดเกาะของสี เมื่อปูนแห้งแล้วสีที่เขียนในขณะปูนยังเปียกอยู่จะกลายเป็นเนื้อเดียวกับปูน เหมือนกับสีของหินอ่อน ไม่ละลายน้ำ สีมีความสดใส มีอายุยืนยาวนับเป็นพันๆปี แต่ก็มีข้อจำกัดทางด้านเทคนิคในการเขียน  เทคนิคปูนเปียกต้องเขียนในขณะที่ปูนยังคงมีชีวิตอยู่ซึ่งมีเวลาเพียง 6-8 ชั่วโมงเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพพื้น ความหนาของปูนฉาบ และสภาพห้องหรือบริเวณที่เขียน หลังจากนั้นสีจะไม่สามารถเข้าไปอยู่ในเนื้อปูนได้ การเขียนเพิ่มเติมลงไปเมื่อปูนแห้งแล้วสีจะติดอยู่เพียงผิวหน้าของปูนเท่านั้น เมื่อถูกน้ำก็จะหลุดล่อนออกไม่คงทน แต่บางครั้งก็มีการเขียนเพิ่มเติมเพื่อแต่งรอยต่อต่างๆให้ภาพสมบูรณ์กลมกลืน การแบ่งพื้นที่ในการเขียนแต่ละครั้งก็สำคัญ ในการแบ่งพื้นที่สำหรับการเขียนงานจิตรกรรมแบบไทยก็ต้องมีความเหมาะสม เทคนิคปูนแห้งเป็นเทคนิคที่ทำให้สามารถเพิ่มเติมรายละเอียดตัดเส้นเพิ่มลวดลายประดับต่างๆ ทำให้ภาพจิตรกรรมไทยมีความละเอียดงดงาม น่าจะมีการนำข้อดีของทั้งสองแบบมาผสมผสานเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีความคงทนถาวรและสามารถเขียนรายละเอียดตามแบบงานจิตรกรรมของไทยได้  เพราะไม่อยากเห็นงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีการซ่อมและเขียนใหม่กันหลายครั้งมากแต่ก็ยังคงทรุดโทรมพังทลาย ด้วยความชื้น ความเค็ม และอุณหภูมิอยู่เสมอ เช่นวัดพระแก้วในปัจจุบัน ผนังวัดพระแก้วดูเหมือนจะเป็นพื้นรองรับศิลปินที่มีโอกาสเข้าไปเขียนใหม่ เขียนซ่อม วนเวียนกันอยู่เช่นนี้หลายครั้งมาก ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจก็ไม่ทราบได้ แต่เท่าที่ทราบจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้วยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ตรงจุด ปัญหาความชื้นในผนังก็คงต้องหาช่องระบายความชื้นออกมา ปัญหาความเค็ม  อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เคยสันนิษฐานไว้ว่ามาจากการใช้กาวหนังควายที่มีความเค็มในตัวกาว ผสมสีเขียนในขณะนั้นเนื่องจากหาได้ง่ายและเป็นที่นิยมใช้กัน ให้สังเกตภาพผนังระเบียงวัดพระแก้ว มีรอยกะเทาะ ล่อน บางทีก็ชื้นเห็นรอยคราบสีเข้มเป็นย่อมๆ รวมทั้งคราบเชื้อรา ก็คงจะต้องปรับพื้นผนังใหม่ให้ถูกวิธี มิฉะนั้นก็ยังคงทิ้งปัญหาไว้ใต้ผนังเช่นเดิม สุดท้ายก็อยู่ที่วิธีเขียน การเขียนที่ผิดวิธี ใช้สีที่ไม่ถูกต้อง การผสมกาวที่ไม่ถูกต้อง ล้วนเป็นส่วนสำคัญของปัญหา และเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขที่จะทำให้เราต้องมาช่วยกันรักษางานจิตรกรรมฝาผนังของไทย ให้มีอายุยืนนาน ไว้ให้ลูกให้หลานได้ชื่นชมกันต่อไป

 

 

 

โดย  ศุภชัย  สุกขีโชติ